เชื่อหรือไม่ว่าหลายองค์กร มีปัญหาเรื่อง “ชนชั้น” ในองค์กรเป็นเงาอยู่เบื้องหลัง บางที่ก็เด่นชัด และกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว แต่หลายที่อาจจะไม่รู้ตัว หรือรู้ในมุมที่ ผู้บริหาร พนักงานทั่วไปมองเห็นเพียงว่า “ทัศนคติ” ของพนักงานนั้น ๆ ที่ไม่ดี
พูดถึงในมุมที่ชัดเจนก่อน ยกตัวอย่างระบบราชการที่มี ข้าราชการ, พนักงานราชการ, ลูกจ้างประจำ, ลูกจ้างชั่วคราว เบื้องต้นหากเข้าใจแรงจูงใจหรือแรงกดดันภายในใจ จะรู้ว่ามีความรู้สึกถึงชนชั้นชัดเจน ตั้งแต่ชื่อระดับ ข้าราชการ กับ ลูกจ้างแล้ว..
คงไม่มีประโยชน์จะพูดถึงเรื่องของราชการ แต่สำหรับเอกชน อาจเป็นไปได้ที่ผู้นำ หรือเจ้าของกิจการ มองแค่ทัศนคติส่วนบุคคลเหมือนที่กล่าวข้างต้น
ทัศนคติก็อาจมีส่วน แต่ที่มากกว่านั้น คือเรื่องการสร้างสัมพันธ์ การจัดวางโครงสร้าง แม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ อย่างตำแหน่งของโต๊ะทำงาน
ทั้งนี้เมื่อพูดว่าชนชั้นหลายคนอาจคิดไปในมุมว่า คนที่มีตำแหน่ง ระดับงาน สูงกว่า จะเป็นฝ่ายที่มีความอคติ ซึ่งไม่เสมอไป
หลายแห่งปัญหาเกิดจากเรื่องที่มองข้าม ดังเช่น สิ่งแวดล้อมของการทำงาน ที่ทำให้เกิดภาวะ “คบแต่พวกเดียวกัน” จึงเสมือนเป็น “กลุ่มอำนาจ” ที่เป็นอำนาจทั้งเกี่ยว และไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน พนักงานส่วนอื่น นอกกลุ่ม ก็ยากจะเข้าถึง ประกอบกับถ้ามีบางคนในกลุ่ม อคติ ตรงนี้ก็เลยยิ่งทำให้ไปกันใหญ่ ทั้งที่ไม่ได้อคติหรือทัศนคติแย่ทุกคน แต่เมื่อเกิดความเป็นกลุ่มก้อน ที่ไม่ใช่ทีม ทำให้มีภาวะต่อต้านกันไปมาได้ไม่ยากนัก คล้ายดัง อันธพาลที่เวลามีพวกมากจะกล้าหาญ แต่โดดเดียวเมื่อไหร่ก็หงอยไปตามระเบียบ
ไม่ได้จะบอกว่ารูปแบบในที่ทำงานเป็นการรวมกลุ่มเพื่อไปหาเรื่อง เพียงแต่การเกาะกลุ่มนี้อาจสร้างชนชั้น การแบ่งแยกได้ และพื้นฐานมนุษย์ส่วนใหญ่ ก็ไม่ชอบที่จะแปลกประหลาดหรืออยู่นอกกลุ่ม เหตุนี้ทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มมีอะไรก็ต้องคล้อยตามก่อน เพราะไม่อยากแปลกจากกลุ่มนั่นเอง
ระดับการทำงานที่ได้บอกว่าไม่เกี่ยวกันในแง่สูงกว่า หรือต่ำกว่า ก็มีตัวอย่าง เช่น หากลูกน้องรวมกลุ่มกันต่อต้านหัวหน้า ที่ไม่ใช่เป็นกรณีไม่พอใจกันในเชิงส่วนตัว แต่เป็นในลักษณะ ลูกน้องรู้สึกไม่ยุติธรรมแล้วทำอะไรไม่ได้ หรือเห็นว่า เหล่าหัวหน้ามีความอภิสิทธิ์เกิดตน เช่นนี้หัวหน้าจะเป็นอีกชนชั้น ที่จะไม่รับเข้าพวก
แต่โดยทั่วไปจะเป็นในลักษณะที่มีเรื่องของอำนาจบางอย่างข้องเกี่ยว เช่น หัวหน้างานคนหนึ่งเป็นคนสนิทกับเจ้านายใหญ่ เหล่าหัวหน้าที่เข้ากันดีกับหัวหน้าคนนี้ ก็จะเป็นก๊วนหนึ่งซึ่งดูมีอำนาจมากกว่าหัวหน้างานที่อยู่นอกกลุ่ม ทั้งที่โดยตำแหน่งแล้ว หัวหน้างานเหมือนกัน..
อีกประเภทก็คือรูปแบบ หรือจำนวนพนักงาน ที่ทำให้ประสานกันไม่ได้ เช่น ผมเคยเจอบริษัทหนึ่ง พนักงานส่วนใหญ่ล้วนเป็น สถาปนิก มีบางส่วนที่เป็นโฟร์แมน หรือคนงาน ภาพรวมในองค์กร ย่อมเป็นสถาปนิก ที่ดูมีสิทธิ เสียงมากกว่าในบริษัท และบริษัทนี้ไม่ได้เน้นไปในทางผลิต แต่เน้นไปทางออกแบบ พนักงานส่วนปฏิบัติการ จึงเหมือนชนชั้นที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดในการทำกิจกรรมใด ๆ ร่วมกัน
กับอีกแห่ง ลูกพี่ลูกน้องผมเป็นสถาปนิกเช่นกัน แต่บริษัทที่ทำงาน มีสถาปนิก 2-3 คน และคนงานหลายสิบ ที่นี่ สถาปนิก กับคนงานเป็นอันหนึ่งเดียวกันได้อย่างดี สิ่งนี้เป็นเพราะอะไร เชื่อว่า ท่านคงพอนึกภาพออก
เราทราบกันดีว่า การทำงานทุกองค์กร จะเป็นพนักงานระดับไหน สุดท้ายล้วนต้องมีการประสานงาน ทำงานร่วมกัน เรื่องที่กล่าวไปจึงเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ
แนวทางขจัดปัญหา นอกจากการแก้ปัญหาด้วย การดูโครงสร้างทั้งการทำงาน, การร่วมงานกัน, โครงสร้างการสื่อสาร, แม้แต่จัดสถานที่ทำงานใหม่ ที่ไม่ใช่แค่มองเรื่องของงานเป็นหลัก แต่หากมองเรื่องความสัมพันธ์ตามมาด้วยแล้ว หรืออาจจะใช้วิธี ดังเช่นการมีกิจกรรม outing, team building หรือ หลักสูตรเกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน ก็พอจะช่วย ลด ขจัดปัญหาความสัมพันธ์ได้
หรือไม่เช่นนั้นก็แยกกันให้ได้ไปเลย เช่น ในโรงพยาบาล หมอ จะมักจะอยู่ส่วนหมอ หมอจะเหมือนมีพื้นที่ตัวเองเสมอ ๆ ไม่ค่อยต้องข้องเกี่ยวกับส่วนอื่น เว้นผู้ช่วย ฟังดูไม่ดีนักเหมือนอภิสิทธิ์ชน แต่มันคือความจริง และมันช่วยให้หมอไม่ได้มีปัญหาการทำงานในมุมนี้กับพนักงานส่วนอื่น และส่วนอื่นก็ไม่มีกับหมอด้วยเช่นกัน..
ปัญหาเรื่องนี้บางทีผมไปบรรยายองค์กรก็พบปัญหาได้แต่แรก แต่ว่าเราไม่ได้ไปในโจทย์นั้น มันก็ช่วยอะไรไม่ได้.. จึงเขียนบทความนี้ เผื่อว่าจะแบ่งปัน และเกิดแนวคิด มุมมอง อันเป็นประโยชน์😊
ที่มาบทความ Sirichaiwatt